ชื่อสมุนไพร | แคนา |
ชื่ออื่นๆ | แคป่า แคขาว แคเค็ตถวา(เชียงใหม่) แคทราย(นครราชสีมา) แคแน แคฝอย(ภาคเหนือ) แคภูฮ่อ(ลำปาง) แคยอดดำ(สุราษฎร์ธานี) แคยาว แคอาว(ปราจีนบุรี) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Dolichandrone serrulata (DC.) Seem. |
ชื่อพ้อง | Stereospermum serrulatua |
ชื่อวงศ์ | Bignoniaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 10-20 เมตร ผลัดใบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อนอมเทา อาจมีจุดดำประ ผิวเรียบ หรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคี่ ออกตรงข้าม 3-5 คู่ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายแหลม โคนใบเบี้ยว กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ยาว 6-16 เซนติเมตร ขอบใบหยักแบบซี่ฟันตื้นๆ ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นประปรายบนก้านใบ ก้านใบย่อยยาว 7-10 มิลลิเมตร ดอกเป็นดอกช่อแบบช่อกระจะสั้น ดอกใหญ่ รูปแตร สีขาว ออกตามปลายกิ่ง ยาว 2-3 ซม. ก้านดอกยาว 1.8-4 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 2-10 ดอก บานทีละดอก กลิ่นหอม บานตอนกลางคืน รุ่งเช้าร่วง กลีบเลี้ยงหนาและเหนียว ปลายเรียวเล็กโค้งยาว 3-4 เซนติเมตร จะหุ้มดอกตูมมิด เชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งปลายแหลม เมื่อดอกบานจึงมีรอยแตกทางด้านล่าง มีลักษณะเป็นกาบหุ้มกลีบดอก ติดกันเป็นท่อ ปลายขยายออกเป็นรูประฆัง และแยกออกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน ยาว 16-18 เซนติเมตร หลอดกลีบดอกยาว 13-14 เซนติเมตร ส่วนโคนแคบคล้ายหลอด สีเขียวอ่อน ส่วนบนบานออกคล้ายกรวยสีขาวแกมชมพู แฉกกลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 3-4 เซนติเมตร ขอบกลีบย่น เป็นคลื่น ดอกสีขาว ดอกตูมสีเขียวอ่อนๆ โคนกลีบมีสีน้ำตาลปน เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดอยู่ที่ด้านในของท่อกลีบดอก ปลายแยกมีขนาดสั้น 2 อัน ยาว 2 อัน และมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 1 อัน รูปร่างเป็นเส้นเรียวเล็กรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร สีเทาดำ จานฐานดอกรูปเบาะ เป็นพูตื้นๆ เกสรเพศเมีย 1 อัน ผลเป็นฝัก ช่อละ 3-4 ฝัก แบน รูปขอบขนาน โค้ง บิดเป็นเกลียว ยาว 40-60 เซนติเมตร พบตามป่า ทุ่ง ไร่ นา ป่าเบญจพรรณออกดอกช่วงเดือน มีนาคมถึงมิถุนายน กลีบดอกบานใช้ต้มจิ้มน้ำพริก หรือแกงส้ม
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใช้ ราก มีรสหวานเย็น แก้เสมหะและลม บำรุงโลหิต เปลือกต้น มีรสหวานเย็น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้กับสตรีหลังคลอด ใบ มีรสเย็น ใช้ตำพอกแผล หรือต้มน้ำบ้วนปาก ดอก มีรสหวานเย็น ใช้ขับเสมหะ โลหิต และลม ขับผายลม เมล็ด รสหวานเย็น แก้อาการปวดประสาท แก้โรคชัก